วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

งานช้างสุรินทร์




จังหวัดสุรินทร์ กำหนดจัดงาน "มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์”ประจำปี 2555 ระหว่างวันที่ 14 – 25 พฤศจิกายน นี้
              นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์ เป็นดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีการเลี้ยงช้างเป็นจำนวนมาก และมีการจัดงานแสดงของช้างเป็นงานประจำปี เพื่อแสดงถึงความสามารถของช้าง และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ ตลอดจนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น โดยในปีนี้ ได้กำหนดจัดงานแสดงช้าง ภายใต้ชื่อการจัดงานว่า "มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์” ระหว่างวันที่ 14 – 25 พฤศจิกายน 2555 รวม 12 วัน ณ สนามกีฬาศรีณรงค์
             สำหรับกิจกรรมไฮไลท์ของงาน มีดังนี้ วันที่ 16 พฤศจิกายน พิธีต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้าง กว่า 250 เชือก การแสดงแสง สี เสียง "ตำนานพันปีปราสาทศีรขรภูมิ” วันเสาร์ ที่ 17และวันอาทิตย์ 18 พฤศจิกายน 2555 งานแสดงของช้างแสนรู้และความน่ารักของช้างสุรินทร์ ณ สนามแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ โดยการแสดงถึงวิถีชีวิตความผูกพันระหว่างช้างกับชาวสุรินทร์ การจำลองพิธีกรรมเกี่ยวกับการเลี้ยงช้าง การแสดงคล้องช้าง การชักเย่อคนกับช้าง ช้างแข่งฟุตบอล การจำลองขบวนช้างศึกสงครามยุทธหัตถี นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ ประกวดสาวงามเมืองช้าง การประกวดโต๊ะอาหารช้างเลี้ยง การแข่งขันหนุ่มพลังช้างและวิ่งมินิฮาล์ฟ



ความเป็นมางานต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้าง
งานต้อนรับช้าง จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ปีพ.ศ. 2535 ที่บริเวณหลังสถานีรถไฟ โดยจะจัดขึ้นก่อนวันแสดงช้างจริง 2 วัน ซึ่งเป็นวันที่ช้างทุกเชือกเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองสุรินทร์ ต่อมาได้มีการจัดเลี้ยงอาหารช้าง และย้ายสถานที่มาจัดที่บริเวณสี่แยกน้ำพุ ช้างซึ่งอยู่เคียงข้างชาวสุรินทร์มานานนับร้อยปี ได้สร้างการเติบโตที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดสุรินทร์ นั่นคือ "งานแสดงของช้าง" ซึ่งครับรอบ 40 ปี ในปี พ.ศ. 2543 กำลังจะก้าวสู่ทศวรรษที่ห้า จังหวัดสุรินทร์และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ จึงมีแนวคิดที่จะสร้างตำนวนประวัติศาสตร์ของจังหวัดที่จะร่วมกันอนุรักษ์ไว้ซึ่งประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของชาวสุรินทร์ที่ว่า 
สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย 
ร่ำรวยปราสาท ผัดกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม 
โดยการเปิดสู่ศวรรษที่ห้า ตำนานประวัติศาสตร์ครบรอบ 40 ปี งานแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ ด้วยการจัดงานต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีช้างมาร่วมงานจำนวน 250 เชือก ใช้พืชอาหารช้าง จำนวน 60 ตัน ใช้ผ้าไหมลายโบราณ ที่มีความยาว 2,000 เมตร เป็นผ้าปูโต๊ะอาหารเลี้ยงช้าง จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และชาวสุรินทร์ต่างก็มาช่วยกันจัดงานแสดงช้าง งานต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้างให้ยิ่งใหญ่จริง ๆ....... เพราะว่างานแสดงช้างเป็นงานประเพณีของชาติ....เพื่อให้การก้าวสู่ทศวรรษที่ห้าของงานแสดงช้างสุรินทร์ยิ่งใหญ่ตระการตา และสถิตตรึงไว้ในความทรงจำมิรู้ลืม.... 

ประวัติความเป็นมาของงานช้าง

       ย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมาในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยาช้างเผือกสำคัญแตกโรงหนีเข้าป่ามาทางเมืองพิมาย พระองค์จึงโปรดฯ ให้ทหารออกติดตาม จนกระทั่งถึงเขตที่ชุมชนชาวกูย (กวย) อาศัยอยู่ ซึ่งชาวกวยกลุ่มนี้เป็นพวกที่มีความชำนาญในการคล้องช้างและจับช้างอย่างยิ่งในที่สุดก็สามารถติดตามช้างเผือกจนพบและนำกลับสู่กรุงศรีอยุธยาความดีความชอบในครั้งนั้น ส่งผลให้หัวหน้าชาวกูยที่เป็นคณะติดตามช้าง  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์พร้อมกับโปรดฯ ยกบ้านให้เป็นเมืองและหนึ่งในบรรดาหัวหน้าชาวกูยก็คือ “เชียงปุม” ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสุรินทร์ภักดี” และต่อมา ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์ จางวาง” ผู้เป็นเจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดสุรินทร์จากอดีตสู่ปัจจุบันลูกหลานชาวกูยยังคงสืบทอดมรดกอันล้ำค่าจากบรรพบุรุษ นั่นคือ “การคล้องช้าง” และการเลี้ยงช้างเสมือนหนึ่งสมาชิกในครอบครัว ทำให้ชาวกูยแห่งเมืองสุรินทร์มีความผูกพันแนบแน่นกับสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลกนามว่า “ช้าง” เป็นเวลาช้านานปี 2,498 ถือว่าเป็นปีแห่ง การชุมนุมช้างของชาวกูยอย่าง ไม่ได้ตั้งใจก็ว่าได้ ซึ่งการชุมนุมช้างในครั้งนั้น เกิดจากข่าวที่ว่าจะมีเฮลิคอปเตอร์มาลงที่บ้านตากลาง (เป็นหมู่บ้านของชาวกูย เลี้ยงช้าง ตั้งอยู่ที่ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์) ชาวบ้านจึงชักชวนกันไปดู ในสมัยนั้นพาหนะที่ใช้กันโดยทั่วไปของชาวกูยก็คือช้างซึ่งถูกฝึกมาเป็นอย่างดี แต่ละคนแต่ละครอบครัวก็พากันนั่งช้างมาดูเฮลิคอปเตอร์ พอไปถึงจุดที่เฮลิคอปเตอร์จอด ปรากฏว่าช้างที่ไปรวมกันนั้นนับได้กว่า 300เชือก ทำเอาคนที่มากับเฮลิคอปเตอร์ตกใจและแปลกใจมากกว่า ชาวบ้านเสียอีก

  
        เหตุการณ์ชุมนุมช้างอย่างไม่ได้ตั้งใจในปี 2,498 ทำให้ผู้คนที่ทราบข่าวต่างพากันสนใจกันเป็นจำนวนมาก และในปี 2,503 อำเภอท่าตูม ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านช้างได้มีการเฉลิมฉลองที่ว่าการอำเภอใหม่ นายวินัย สุวรรณประกาศ ซึ่งเป็นนายอำเภอในขณะนั้นได้เชิญชวนให้ชาวกูยเลี้ยงช้างทั้งหลาย ให้นำช้างของตนมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ดูได้ชมกันเนื่องจากไม่สามารถจะไปคล้องช้างตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาได้อย่างเคย อันเนื่องมาจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ  การแสดงในครั้งนั้นด้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะมีการแสดงคล้องช้างให้ดูแล้ว ยังมีการเดินขบวนแห่ช้าง การแข่ง วิ่งช้าง และ ในกลางคืนก็ได้ มีงานรื่นเริง มีมหรสพต่างๆ ตลอดคืน ซึ่งใครจะคาดคิดว่าจากงานเฉลิมฉลองที่ว่าการอำเภอเล็กๆ แห่งหนึ่ง ในถิ่นทุรกันดารของภาคอืสานเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2,503 จะกลายมาเป็นงานประเพณีของชาติที่โด่งดังไปทั่วโลก นับต่อเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน ประเพณีการแสดงของช้างได้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลาร่วม 40 ปี แล้ว   ถ้าเป็นคนก็ถือว่าย่างเข้าสู่วัยกลางคนก็ไม่ผิดเท่าใดนักสุรินทร์ จังหวัดที่เคย เงียบเหงาในอดีต ได้ถูกชาวกูยและช้างสร้างให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างน่าภาค ภูมิใจ วีรกรรมของชาวกูยปัจจุบันไม่ได้แตกต่างจากบรรพบุรุษเลยแม้แต่น้อย...   
            ในปี พ.ศ. 2505 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้การจัดงานช้างเป็นงานประจำปีของชาติ และให้ส่วนราชการต่าง ๆ สนับสนุน นายคำรณ สังขกร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ในสมัยนั้น พิจารณาเห็นว่า การจัดงานที่อำเภอท่าตูมไม่สะดวกในการเดินทางของนักท่อง เที่ยวจึงได้ย้ายสถานที่จัดงานมาที่สนามกีฬาจังหวัด ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน และได้กำหนดจัดงานแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์เป็นวันเสาร์ - อาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี